การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ

การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ

การปลูกพืชผักปลอดสารพิษจะช่วยลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและลดสารปนเปื้อนจากการตกค้างของสารเคมีในผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและลดปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยทั่วไป วิธีการปลูกและดูแลรักษาที่ง่ายโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพและสารไล่แมลงที่สามารถผลิตเองได้ทั้งหมดและวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งนี้ พืชผักปลอดสารพิษที่ได้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มรายได้ของผลผลิตและเป็นการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อการบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ของครอบครัว มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกพืชผักที่ปลอดภัยต่อการบริโภคส่งผลให้เกษตรกรมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีสรุปได้ดังนี้

วัสดุอุปกรณ์
1. ปุ๋ยหมักชีวภาพ
2. น้ำหมักชีวภาพ
3. น้ำหมักสมุนไพร
4. กากน้ำตาล
5. ฟาง
7. กระดาษกระสอบปุ๋ย
8. ขุยมะพร้าว
9. บัวรดน้ำ
10. จอบ
11. คราด

ขั้นตอน/วิธีทำ
การเตรียมแปลงวิธีที่ 1
1. ขุดดินเป็นแปลงผักตามปกติ
2. ทำร่องตรงกลางแปลง
3. โรยด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพตามด้วยฟาง
4. รดด้วยน้ำผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์และกากน้ำตาล
5. กลบร่องพร้อมเกลี่ยให้เรียบ
6. โรยด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพอีกครั้งและรดน้ำที่ผสมจุลินทรีย์T.M และกากน้ำตาลอีกครั้งทิ้งไว้7 วันจึงปลูกผักได้

การเตรียมแปลงวิธีที่ 2
1. ขุดดินที่จะทำแปลงผักให้ลึกประมาณ 25-30เซนติเมตรกว้างประมาณ 1เมตรยาวตามต้องการโดยเอาดินที่ขุดออกไว้ข้างแปลง
2. โรยปุ๋ยหมักชีวภาพลงในแปลงประมาณ 10 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
3. เอาหน้าดินที่ขุดออกลงใส่คลุกให้เข้ากันกับปุ๋ยในสูงกว่าระดับเดิมพอประมาณ
4. นำกากน้ำตาลกับน้ำหมักชีวภาพอย่างละ 1 ช้อน ผสมกับน้ำที่เตรียมไว้รดแปลงให้ชุ่มวันละครั้งติดต่อกัน 7 วัน
5. พรวนดินที่แปลงคราดให้เรียบ
6. รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน รดน้ำหมักสมุนไพรทุก 5 วัน และพรวนดินทุก 3 สัปดาห์

การเตรียมแปลงวิธีที่ 3
1. ขุดบ่อให้ลึกบวกคันดินประมาณ 4 เมตร
2. ความกว้าง 19 เมตร ยาว 29 เมตร
3. คลุมด้วยผ้ามุงไนลอนผสมยูวี(บนคันดิน)
4. ปลูกผักโดยใช้กระดาษกระสอบปุ๋ยปูลงบนร่องผักลึก เพื่อไม่ให้ความร้อนลงไปยังดินและเป็นการควบคุมหญ้าอีกทางหนึ่ง หรือปลูกผักโดยใช้ขุยมะพร้าวที่ผลิตเองเพื่อเก็บความชื้น

ประโยชน์
1. เป็นแปลงผักถาวรสามารถปลูกผักติดต่อกันได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ใส่ปุ๋ย
2. แปลงผักมีจุลินทรีย์ทำให้ดินร่วนซุย
3. ผักเจริญงอกงามดีแข็งแรง ต้านทานโรค มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
4. ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตสูง ปลอดภัย

ข้อควรระวัง
– ควรทำการล้อมบริเวณแปลงผักไว้ด้วยตาข่ายเก่าๆ เพื่อป้องกันเป็ด ไก่ สุนัข หรือหมูเข้าไปรบกวนแปลงผัก

– ควรทำหลังคาป้องกันแสงแดดให้กับแปลงเพาะเมล็ด โดยเฉพาะช่วงกลางวันที่แดดร้อนจัด

– ก่อนทำการปลูกต้องมั่นใจว่าส่วนผสมในแปลงผักได้รับการผสมอย่างดีระหว่างหน้าดิน ปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์

– ก่อนทำการใส่ส่วนผสม ควรปูพื้นด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ และเศษกระดาษจากลัง โดยเฉพาะแปลงปลูกแบบขุดร่อง แบบยกร่อง และแบบกะบะ เพื่อป้องกันวัชพืชขึ้นรบกวนแปลงผัก

– ชนิดผักที่ควรปลูก ควรจะปลูกทั้งผักพื้นบ้าน และผักทั่วๆ ไป ผักพื้นบ้าน เช่น ขิง ข่า ตะไคร กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก พริก และตำลึง ผักทั่วๆ ไป ได้แก่ คะน้า ผักกาด กะหล่ำ มะเขือ ถั่วฝักยาว แตงกวา ฟักทอง ผักบุ้ง หอม และผักชี เป็นต้น

– ผักที่ควรปลูกในหลุม และใช้พื้นที่มากๆ ได้แก่ ฟักทอง บวบ มะระ ควรแยกปลูกต่างหากจากแปลง ผักอื่นๆ และควรทำร้านให้ผักเหล่านี้เลื้อยเกาะ เนื่องจากผักเหล่านี้ต้องการพื้นที่มาก

– ผักที่ควรปลูกในหลุมและในร่อง เช่น มะเขือ และพริก ก็ควรแยกปลูกจากผักทั่วๆ ไป

– ผักที่ปลูกในแปลงและต้องการร้านให้เลื้อยเกาะ เช่น แตงกวา และถั่วฟักยาวก็จะใช้พื้นที่มากเช่นกัน

– ผักที่ปลูกได้เป็นแถวเป็นแนว หรือเป็นกอเป็นกลุ่ม ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ควรหาที่ที่เหมาะสมปลูก ไม่ควรปลูกในแปลงเดียวกับผักทั่วๆ ไป

– ผักพื้นบ้าน เช่น กะเพรา โหระพา และแมงลัก เวลาเจริญเติบโตจะขยายพันธุ์ได้โดยอาศัยเมล็ด ฉะนั้นควรแยกปลูกต่างหาก ผักเหล่านี้จะขึ้นได้โดยทั่วไป

– ผักทั่วๆ ไป เช่น กะหล่ำ คะน้า ผักกาด ต้นหอม และผักชีควรปลูกในแปลงเพาะ และสามารถปลูกได้ในแปลงเดียวกัน ผักเหล่านี้จะขึ้นเป็นฤดูกาล

– หลังปลูกผักควรคลุมด้วยวัสดุคลุมดินต่างๆ ได้แก่ ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เศษใบไม้ ขุยมะพร้าว และวัสดุอื่นๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น การคลุมดินจะช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา ลดการระเหยของน้ำ ป้องกันวัชพืช และทำให้ผักงอกงามเร็ว

– หมั่นรดน้ำในกรณีที่ฝนไม่ตก และควรหมั่นใส่ปุ๋ยหมักบำรุงดินสม่ำเสมอ และควรกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน โดยการถอนทิ้ง

– แมลงและเพลี้ยสามารถกำจัดได้โดยวิธีธรรมชาติเช่น การเก็บออกด้วยมือ การใช้สารไล่แมลงจากธรรมชาติเช่น สารสะเดา หรือสารตะไคร้หอมอย่างไรก็แล้วแต่ การปลูกผักรวมกันหลายๆชนิด และการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์มากๆ จะเป็นการป้องกันโรคแมลงได้อย่างดีนอกจากนั้น พืชชนิดต่างๆ ที่มีกลิ่นแรงๆ เช่น ตะไคร้และดอกดาวเรือง ควรจะปลูกไว้ใกล้ๆ กันกับแปลงผัก เพราะกลิ่นเหล่านี้จะไล่แมลงและเพลี้ยได้เป็นอย่างด

– ควรมีการทำปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไว้ใช้แทนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยหมักทำได้ง่ายและมีประโยชน์ต่อดินและพืชมาก

ที่มา : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดภูเก็ต

บทความที่เกี่ยวข้อง