การเพาะเลี้ยงกบ การผสมพันธุ์กบ และการรักษาโรคกบ

การเพาะเลี้ยงกบ การผสมพันธุ์กบ และการรักษาโรคกบ

กบ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาเลี้ยงลงทุนน้อย ดูแลรักษาง่าย และจำหน่ายได้ราคาคุ้มกับการลงทุน สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่มีผู้หันมาเลี้ยงกบกันมากขึ้น เพราะปริมาณกบที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติมีจำนวนลงน้อยลงทุกที เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของกบถูกเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช การใช้ยากำจัดวัชพืช กำจัดปูนา ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำลาพันธุ์กบในธรรมชาติให้หมดลงสิ้นไปแต่ละปี

ลักษณะเพศของกบ สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอก ดังนี
กบเพศผู้ : จะพบกล่องเสียงอยู่ใต้คางทั้งสองข้าง สังเกตใต้คางจะเป็นจุดดำๆ โดยรอบ

กบเพศเมีย : จะไม่มีกล่องเสียงอยู่ใต้คาง ตามปกติแล้วกบเพศเมียจะโตกว่ากบเพศผู้และมีความกว้างของลำตัวมากกว่ากบเพศผู้ใต้คางจะขาวไม่มีจุดดำ

ลักษณะกบที่พร้อมผสมพันธุ์
– เมื่อกบโตเต็มวัยจะเริ่มผสมพันธุ์กันได้อายุตั้งแต่6เดือนขึ้นไปจะสังเกตเห็นรอยย่นของกล่องเสียงเป็นสีเทาดำคล้ำ ใต้คางทั้งสองข้างของกบเพศผู้เพื่อใช้ในการขยายเสียงร้องเรียกกบเพศเมีย นอกจากนั้นฤดูผสมพันธุ์จะพบแถบปุ่มสีน้ำตาลทางด้านในของผิวหัวแม่มือของกบเพศผู้ทั้งสองข้าง เพื่อยึดเกาะตัวเมียในเวลาผสมพันธุ์

– กบเพศเมีย เมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ ใต้ท้องของกบเพศเมียจะมองเห็นเม็ดดำ ๆ เป็นสายและข้างลำตัวจะมีลักษณะสากมือคล้ายเอามือจับกระดาษทราย

– กบเพศผู้ให้เอานิ้วมือของเราสองนิ้ว แหย่เข้าตรงกลางสองขาหน้า ถ้ากบกอดมือเราได้แสดงว่ากบเพศผู้พร้อมที่จะผสมพันธุ์

ขั้นตอน/วิธีทำ
การเตรียมบ่อเพาะเราควรทำบ่อไว้สามบ่อ เพื่อแยกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออกจากกัน และเตรียมอีกบ่อสำหรับใช้ผสมพันธุ์ เตรียมบ่อเพาะด้วยการล้างอ่างให้สะอาด แล้วตากอ่างให้แห้ง ช่วงเย็นก่อนมืดให้เอาน้ำเติมลงไปในอ่าง ให้น้ำสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร รอให้ฝนตก กบจะร้อง ให้จับกบตัวผู้และตัวเมียลงบ่อ หรือถ้าทำนอกฤดูให้ใช้น้ำแข็งละลายน้ำสาดให้ทั่วอ่าง อ่างจะเย็นกบก็จะออกไข่ สังเกตเมื่อกบออกไข่ให้จับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออก ในช่วงระยะแรกไข่จะจมต่อมาไข่จะลอยขึ้น

แสงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่มีผลต่อการฟักไข่ของกบ ถ้าแสงแดดไม่เพียงพอ หรือแสงแดดส่องไม่ถึงไข่กบจะไม่ฟักออกมาเป็นตัวถ้าแสงแดดเพียงพอไข่กบจะฟักออกมาเป็นตัวไข่กบจะฟักตัวประมาณ18-36 ชั่งโมง ก็จะเป็นตัวลูกอ๊อด ลูกกบฟักตัวออกใหม่ ยังไม่กินอาหาร เนื่องจากมีอาหารสะสมอยู่ที่บริเวณท้อง สามารถอยู่ได้ 3-5 วัน

ลูกอ๊อดจะเริ่มกินอาหารเมื่ออายุได้3 วันขึ้นไป โดยการให้อาหารสำเร็จรูปที่เป็นอาหารปลาดุกเล็กพิเศษ เมื่อลูกอ๊อดอายุได้4 สัปดาห์ – 1 เดือนจะกลายเป็นลูกกบ คือ ในระยะแรกลูกอ๊อดจะมีเฉพาะหางและต่อมาอีก 1 สัปดาห์จะมีขาหลังสองขา เมื่อสองขาหลังสมบูรณ์เต็มที่ สองขาหน้าก็เริ่มโผล่ออกมาและหางค่อยๆ หด เมื่อสองขาหน้าสมบูรณ์เต็มที่ หางจะหดหมดไปในระยะ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ลูกอ๊อดจะหมดหางไม่พร้อมกัน จึงเป็นอันตรายต่อลูกกบวัยอ่อน เพราะลูกกบยังอ่อนแอควรหากระดานหรือไม้ไผ่มาทำเป็นแพเพื่อให้ลูกกบที่หางหมดแล้วได้ขึ้นอยู่บนแพ แล้วหาภาชนะเพื่อใส่อาหารให้ลูกกบกิน ถ้าปล่อยให้ลูกกบลอยน้ำอยู่ ลูกกบจะถูกลูกอ๊อดกัดกิน ซึ่งเป็นช่วงที่อันตรายมากเมื่อลูกอ๊อดหางหดหมดแล้วจึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อต่างหาก หรือจะเลี้ยงในบ่อเดิมไปก่อนก็ได้ในช่วงระยะนี้ควรคัดเลือกขนาดของลูกกบย้ายไปเลี้ยงบ่ออื่นๆ เพราะตัวใหญ่จะกินตัวเล็กทำให้ตัวเล็กตายหรือไม่ก็ตายทั้งคู่ ทั้งตัวที่ถูกกินและตัวที่กินตัวอื่น เพราะกลืนไปไม่หมดจะทำให้ตาย การนำลูกกบออกไปเลี้ยงมีวิธีเลี้ยงได้หลายวิธีเช่น บ่อดิน บ่อซีเมนต์กระชัง การเลี้ยงในกระชังจะสะดวกสบายกว่า เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย ลงทุนน้อยและไม่ต้องถ่ายเทน้ำขนาดความหนาแน่นของกบ 80-100 ตัว ต่อหนึ่งตารางเมตร

+++++

การผสมพันธุ์กบในฤดูผสมพันธุ์

ส่วนมากในคืนแรกหรือคืนที่2 หลังจากฝนตกกบจะผสมพันธุ์วางไข่แต่อาจยืดระยะเวลาออกไปได้อีกโดยจะผสมพันธุ์วางไข่หลังจากฝนตกประมาณ 5-7วัน เมื่อเลือกกบที่มีลักษณะดีแล้วให้นำกบมาปล่อยในบ่อผสมพันธุ์ในอัตราตัวผู้2ตัวต่อตัวเมีย 10ตัว (ตัวผู้กับตัวเมียมีขนาดเท่ากัน) ระดับน้ำในบ่อลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ภายในบ่อ ใส่พวกสาหร่ายลงไปด้วยพอประมาณ รักษาระดับน้ำให้คงที่ตลอดเวลาในช่วงนี้งดให้อาหาร 2-3 วัน ถ้ายังไม่มีฝนตกให้เปลี่ยนน้ำใหม่และอาจพ่นน้ำในบ่อผสมพันธุ์ให้เหมือนกับฝนตก หลังจากนั้นกบก็จะผสมพันธุ์และวางไข่ในเวลาเช้ามืด ภายในบ่อผสมพันธุ์อาจใส่พันธุ์ไม้น้ำด้วย

การผสมพันธุ์นอกฤดู
ได้มีผู้คิดค้นและทดลองปฏิบัติกันหลายวิธีเช่น เมื่อเข้าฤดูแล้งจะเติมน้ำจนเต็มบ่อเลี้ยงกบ และฉีดน้ำให้กบชุ่มชื้นอย่างน้อย2วันต่อครั้งแล้วถ่ายน้ำออกปล่อยให้บ่อแห้ง ประมาณ 2-3วัน เมื่อบ่อแห้งดีแล้วจึงทำการคลุมหลังคาให้ร่มครึ้มอย่างเดิมอีกครั้ง หลังจากนั้นฉีดน้ำให้บ่อกบชุ่มชื้น 6-7 วันติดต่อกันแล้วฉีดน้ำต่ออีก 15 นาทีสังเกตว่าในตอนกลางคืนกบจะร้อง พอเช้าให้ฉีดน้ำในตอนเที่ยงและบ่ายครั้งละครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นกบจะแยกกันไปหลบในที่อาศัย ผู้เลี้ยงก็จะสามารถจับพ่อและแม่พันธุ์คืนสู่บ่อเลี้ยงเดิมได้

กรณีดังกล่าวนี้ค่อนข้างยุ่งยาก ทางที่ดีควรแยกเลี้ยงพ่อแม่และแม่พันธุ์กบ เมื่อต้องการจะเพาะก็คัดพ่อพันธุ์กบที่มีน้ำเชื้อดีและแม่พันธุ์ที่มีไข่แก่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้กบจะผสมพันธุ์วางไข่ในคืนแรกหรือคืนที่ 2 ถ้ากบไม่วางไข่ ให้เปลี่ยนน้ำใหม่อีกครั้ง กบอาจผสมพันธุ์วางไข่ได้ แต่ถ้าหากกบยังไม่วางไข่ต้องเปลี่ยนพ่อและแม่พันธุ์ใหม่

+++++

การรักษาโรคกบ

การที่กบที่เลี้ยงไว้เป็นโรคต่างๆ นั้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสกปรกของบ่อ การจัดการและดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้กบมีสภาพอ่อนแอ หรือในกรณีที่กบมีบาดแผล อาจเกิดจากอาหารสกปรกก็ได้เมื่อผ่าอวัยวะภายในจะพบว่าถุงน้ำดีมีสีเขียวเข้มถึงน้ำเงินแก่ ไตมีขนาดใหญ่กว่าปกติลำไส้เล็กส่วนท้ายเกิดการตกเลือด ปอดมีตุ่มหนอง

วิธีการรักษา
1. ให้ใช้ยาออกซิเตรทตราไชคลีน 3 กรัม ต่ออาหารกบ 1 กิโลกรัม ให้กบกินทุกมื้อประมาณ 3-7 วัน กบก็จะหายเป็นปกติ

2. น้ำที่ใช้เลี้ยงกบควรอยู่ในช่วงสภาพความเป็นกรดด่าง (พีเอช) ประมาณ 6.5-8.5

3. ในวันที่ฝนตกหนักหรืออุณหภูมิเปลี่ยนอย่างรวดเร็วร่างกายของกบจะปรับตัวไม่ทัน อาจตายได้ในวันรุ่งขึ้นอย่างน้อย1ตัวเสมอดังนั้น ในช่วงฝนตกจึงควรสร้างหลังคา หรือใช้ผ้าใบคลุมบ่อ หรือปรับอุณหภูมิในบ่อเลี้ยงให้คงที่

4. เมื่อกบเล็กอายุ1เดือน ควรมีการถ่ายพยาธิโดยใส่ดีเกลือ3กรัมต่ออาหาร1กิโลกรัม ให้เพียง 1 มื้อ ทำเดือนละครั้งจะทำให้กบเจริญเติบโตรวดเร็วและต้านทานโรคได้ดีขึ้น

สิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้กบเกิดโรค
1. รักษาความสะอาดของบ่อเลี้ยง
2. อย่าเลี้ยงกบหนาแน่นเกินไป
3. เปลี่ยนน้ำในบ่อบ่อยๆ หรืออย่างน้อยทุกวัน
4. อาหารที่ให้ควรมีโปรตีนสูงและเป็นอาหารที่กบชอบ
5. มีการจัดการที่เหมาะสม

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย จังหวัดบุรีรัมย
ที่มา : ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านเชียงงาม จังหวัดกาฬสินธ

บทความที่เกี่ยวข้อง